Know Your Customer (KYC)

ข้อกำหนดในการรู้จักลูกค้าของคุณ หรือ Know-your-customer (KYC) เป็นส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาใน Web3 เนื่องจากเหรียญคริปโตจะถูกรวมเข้ากับระบบการเงินที่มีเพิ่มมากขึ้น

หากคุณเคยใช้กระดานเทรดคริปโตเคอเรนซีหรือซื้อ NFT เป็นไปได้ว่าคุณจะต้องทำขั้นตอน KYC เพื่อยืนยันตัวตนของคุณ การตรวจสอบ KYC เป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินทั่วโลก และช่วยให้ธุรกิจสกุลเงินดิจิทัลสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบต่อต้านการฟอกเงิน (AML : Anti-Money Laundering) ได้

สำหรับรัฐและหน่วยงานกำกับดูแล ข้อกำหนด KYC เป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันไม่ให้เงินคริปโต ถูกใช้เพื่อก่ออาชญากรรม เช่น การค้ามนุษย์ การฟอกเงิน และการจัดหาเงินทุนของผู้ก่อการร้าย

อย่างไรก็ตาม ผู้คนจำนวนมากที่สนับสนุนสกุลเงินคริปโต มีแนวคิดเกี่ยวกับการกำกับดูแลธุรกรรมคริปโตจากหน่วยงานส่วนกลาง ว่าขัดต่อหลักการของการเกิดขึ้นของสกุลเงินคริปโต

สิ่งหนึ่งที่ชัดเจน ก็คือนโยบาย KYC และ AML เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินระดับโลกที่จะไม่หายไปในเร็วๆ นี้ และกระดานแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลก็ไม่มีข้อยกเว้น

 

KYC และ AML คืออะไร และเหตุใดจึงต้องมีอยู่

กระบวนการ Know-your-customer (KYC) เป็นตัวระบุและยืนยันว่าลูกค้าเป็นผู้มีตัวตนตามสิ่งที่พวกเขาให้ข้อมูล เป็นกระบวนการหลายขั้นตอนที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการสร้างและใช้งานบัญชี ที่เป็นการฉ้อโกง

KYC ตั้งเป้าที่จะเข้าใจธรรมชาติของกิจกรรมของลูกค้า รับรองว่าแหล่งที่มาของเงินทุนถูกต้องตามกฎหมาย และประเมินความเสี่ยงจากการฟอกเงินที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา

นโยบาย Know-your-customer (KYC) ในสหรัฐอเมริกาเปิดตัวครั้งแรกในปี 1990 เพื่อต่อสู้กับการฟอกเงิน KYC มีตั้งแต่การต้องกรอกชื่อและที่อยู่อีเมล รวมไปจนถึงที่อยู่และบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่าย

ผู้เสนอนโยบาย KYC เน้นถึงความจำเป็นในการปกป้องผู้บริโภคจากการโจรกรรมข้อมูลประจำตัวและต่อสู้กับการฟอกเงินและการฉ้อโกง

นโยบายต่อต้านการฟอกเงิน (AML) นั้นเก่ากว่ามาก ย้อนหลังไปถึงพระราชบัญญัติความลับของธนาคารปี 1970 นโยบาย AML ได้รับการออกแบบมาเพื่อยับยั้งและป้องกันไม่ให้อาชญากรใช้บริการธนาคารหรือกระดานแลกเปลี่ยนเพื่อฟอกเงินหรือสกุลเงินดิจิทัล

ตัวอย่างเมื่อครั้งที่กระทรวงการคลังสหรัฐทำการคว่ำบาตรการผสมเหรียญ Tornado Cash ในเดือนสิงหาคม 2022 โดยอ้างว่าการผสมเหรียญ Tornado Cash นั้นใช้ในการฟอกเงินและอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต

พระราชบัญญัติความลับของธนาคารกำหนดให้ธุรกิจต้องเก็บบันทึกและยื่นรายงานที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายสามารถใช้เพื่อระบุ ตรวจจับ และดำเนินคดีกับการฟอกเงินโดยองค์กรอาชญากรรม ผู้ก่อการร้าย และบุคคลที่กำลังมองหาวิธีหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี

รู้หรือไม่?

นโยบาย Know-your-customer ในสหรัฐอเมริกากลายเป็นข้อบังคับภายใต้พระราชบัญญัติผู้รักชาติของสหรัฐอเมริกาปี 2001 ภายในเดือนตุลาคม 2002 เลขาธิการกระทรวงการคลังได้สรุปข้อบังคับที่ทำให้ KYC เป็นภาคบังคับสำหรับธนาคารในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด

KYC และ คริปโตเคอเรนซี

กระดานแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซี เป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศคริปโต เช่นเดียวกับธนาคารหรือตลาดหลักทรัพย์ แม้ว่าจะยังไม่มีการควบคุมอย่างเต็มรูปแบบ กระดานแลกเปลี่ยนในสหรัฐฯ เช่น Coinbase, Binance.US, Gemini และ Kraken ใช้ “Identity Verification” (การยืนยันตัวตน) เพื่อปฏิบัติตามกฎระเบียบของ KYC

“ในฐานะบริษัทที่ให้บริการทางการเงินที่มีการควบคุม Coinbase จำเป็นต้องระบุผู้ใช้บนแพลตฟอร์มของเรา ตามข้อกำหนดของผู้ใช้ Coinbase เรากำหนดให้ลูกค้าทุกคนยืนยันตัวตนเพื่อใช้บริการของเราต่อไป” เว็บไซต์ Coinbase กล่าว

ลูกค้าที่ลงทะเบียนบนกระดานเทรดในสหรัฐอเมริกาจะต้องให้ข้อมูลพื้นฐานเพื่อเริ่มต้น ข้อมูลนี้มักเป็นชื่อ ที่อยู่อีเมล และวันเกิด เพื่อใช้ประโยชน์ได้ทุกบริการจากกระดานแลกเปลี่ยน เช่น ในการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยน และลูกค้าต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงบัตรประจำตัวที่ออกโดยหน่วยงานราชการและการสแกนใบหน้า

แม้ว่าเป้าหมายของ KYC และ AML อาจเป็นเพื่อปกป้องผู้บริโภคและระบบการเงิน แต่ผู้คนจำนวนมากที่สนับสนุนด้านความเป็นส่วนตัวและคริปโต มองว่านโยบาย KYC เป็นการบุกรุกความเป็นส่วนตัว และเป็นที่รวบรวมแหล่งข้อมูลให้กับอาชญากรไซเบอร์ในการขโมยข้อมูลประจำตัว

ปัญหาอีกประการหนึ่งคือเมื่อบริษัทคริปโตยื่นฟ้องเพื่อป้องกันการล้มละลายและเอกสารของบริษัทได้กลายเป็นเอกสารสาธารณะตามบันทึกของศาล

เมื่อครั้งที่แพลตฟอร์มกู้ยืมคริปโต ‘Celsius’ ได้ยื่นฟ้องล้มละลายในบทที่ 11 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2022 ข้อมูลผู้ใช้และบัญชีได้ถูกมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ศาลล้มละลาย เมื่อข้อมูลนี้เผยแพร่สู่สาธารณะ มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลประจำตัวของผู้ที่เคยใช้บริการแพลตฟอร์ม Celsius และทุกๆธุรกรรมที่พวกเขาทำบนบล็อกเชน และเว็บไซต์ “Celsius Networth” ช่วยให้ผู้คนสามารถป้อนชื่อลงในแถบค้นหา และดูว่าพวกเขาอยู่ในอันดับใดบน “ลีดเดอร์บอร์ด” ของผู้เสียหายที่ใหญ่ที่สุดจากการล่มสลายของ Celsius

 

การทำ KYC ใน Web3

สำหรับหลาย ๆ คน การคุกคามแบบ doxxing (คือการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของผู้อื่นทางออนไลน์ โดยมีเจตนาคุกคามในชีวิตจริง แม้ว่าจะไม่ผิดกฎหมายในทางเทคนิค แต่ก็ถือว่าเป็นการล่วงละเมิด และอาจก่อเป็นอาชญากรรมได้) นับเป็นข้อกังวลอย่างแท้จริง บางคนได้เสนอ KYC เวอร์ชันที่ใหม่กว่าและเป็นมิตรกับ Web3 มากกว่า ซึ่งสร้างขึ้นจากชื่อเสียงควบคู่ไปกับกระบวนการยืนยันตัวตนที่จำกัด

ผู้ให้บริการ KYC ใน Web3 ที่ชื่อว่า Civic เปิดตัวในปี 2015 ซึ่งตั้งอยู่ในซานฟรานซิสโก ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลประจำตัวออนไลน์ใน Web3 โดยนำเสนอโซลูชั่นสำหรับองค์กรและผู้บริโภค

“การตรวจสอบความเป็นเอกลักษณ์เป็นส่วนหนึ่งของชุดผลิตภัณฑ์ที่เรามีสำหรับองค์กร ซึ่งเรียกว่า Civic Pass” JP Bedoya หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Civic กล่าว

นอกจาก Civic Pass แล้ว บริษัทยังได้เปิดตัว Civic.me ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้ใช้จัดการข้อมูลประจำตัวออนไลน์, NFT, ที่อยู่กระเป๋าเงิน และชื่อเสียงได้จากที่เดียวบนบล็อกเชน

โครงการอื่นๆ ที่เปิดให้บริการ KYC ใน Web3 ได้แก่ Polygon พร้อม Polygon ID, Astra Protocol และตลาด Parallel ซึ่งแต่ละโครงการมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การระบุตัวตนลูกค้าและกระบวนการปฏิบัติตามข้อกำหนดเป็นไปอย่างราบรื่น

KYC ยังคงเป็นประเด็นที่อ่อนไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างขึ้นบนหลักการพื้นฐานของความเป็นส่วนตัวและการทำธุรกรรมที่ไม่ได้รับอนุญาต แต่ด้วยรัฐบาลที่ให้ความสนใจในกิจกรรมคริปโต และ Web3 มากขึ้น และระบบการเงินแบบเดิมก็ถูกรวมเข้ากับพื้นที่คริปโตมากขึ้น ยังไงแล้ว KYC ก็จะยังต้องคงอยู่ต่อไป

ที่มา LINK

2 thoughts on “KYC คืออะไร? กระดานซื้อขายทรัพย์สินดิจิทัล ป้องกันการฟอกเงินได้อย่างไร?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *