
Lightning Network คืออะไร?
อย่างแรก Bitcoin นั้นไม่ได้ถูกออกแบบมา ให้มีความสามารถในการปรับขนาดได้ Bitcoin ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อให้เป็นระบบการชำระเงินแบบกระจายศูนย์ ซึ่งผู้ใช้ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน และสามารถเข้าถึงได้จากทุกมุมโลก อย่างไรก็ตาม ความนิยมในการใช้ Bitcoin ที่มากขึ้น กลายเป็นว่า การทำธุรกรรมนั้นช้าลงมาก และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าเดิมมาก ดังนั้น นักพัฒนาจึงสร้างเลเยอร์ของสกุลเงินดิจิทัล โดยที่เลเยอร์แรกเป็นบล็อกเชนหลัก และแต่ละชั้นที่อยู่ข้างใต้นั้นเป็นชั้นที่ 2 ชั้นที่ 3 และอื่น ๆ
แต่ละเลเยอร์ ช่วยเสริมเลเยอร์ด้านบน และเพิ่มฟังก์ชันการทำงาน Lightning Network เป็นเลเยอร์ที่ 2 สำหรับบล็อกเชน Bitcoin ที่ใช้เป็นช่องทาง micropayment เพื่อขยายขีดความสามารถของ บล็อกเชน ในการทำธุรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในชั้นนี้จะประกอบด้วยช่องทางการชำระเงินหลายช่องทาง ระหว่างคู่สัญญา หรือผู้ใช้ Bitcoin ช่องเครือข่าย Lightning เป็นกลไกการทำธุรกรรมระหว่างสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างใช้ช่องทางชำระเงิน หรือรับชำระเงินระหว่างกัน การทำธุรกรรมที่ดำเนินการบน Lightning Network นั้นเร็วกว่า มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และได้รับการยืนยันธุรกรรมง่ายกว่าที่ดำเนินการโดยตรงบนบล็อกเชนหลัก ของ Bitcoin
นอกจากนี้ยังสามารถใช้ Lightning Network เพื่อทำธุรกรรมนอกเครือข่ายประเภทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินดิจิทัล
ประเด็นที่สำคัญ
- เครือข่าย Lightning เป็นโซลูชันทางเทคโนโลยี ที่มีจุดประสงค์ เพื่อแก้ปัญหาความเร็วของธุรกรรมบนบล็อกเชน ของ Bitcoin โดยวิธีการทำธุรกรรมนอกเครือข่าย
- เครือข่าย Lightning ทำงานเช่นเดียวกับบล็อกเชนหลัก คือทำหน้าที่ตัดตัวกลางออกไป อย่างเช่น ธนาคาร ซึ่งมีหน้าที่เป็นตัวกลาง รับผิดชอบในการกำหนดเส้นทางธุรกรรมส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
- เครือข่าย Lightning ถูกเสนออย่างเป็นทางการครั้งแรกในบทความโดย Joseph Poon และ Thaddeus Dryja ในปี 2016
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเครือข่าย Lightning
เครือข่าย Lightning ได้รับการเสนอครั้งแรกโดย Joseph Poon และ Thaddeus Dryja ในปี 2016 และยังอยู่ระหว่างการพัฒนานับตั้งแต่นั้นมา
Lightning Network คิดค้นขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาระยะเวลาในการทำธุรกรรมที่เชื่องช้า และปริมาณงานของ Bitcoin ที่มีเป็นจำนวนมาก
มีปัญหาอะไรบ้างในการใช้ Bitcoin ที่ต้องได้รับการแก้ไข?
Bitcoin ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับจำนวนธุรกรรมที่เกิดขึ้นทุกวัน ปัญหาบางอย่างที่ Lightning Network พยายามแก้ไขคือ:
ความล่าช้าในการยืนยันธุรกรรม: เนื่องจากมีผู้ใช้ Bitcoin ทำธุรกรรมมากขึ้น และความยากในการขุดเพิ่มมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป จำนวนธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้การใช้ Bitcoin มีค่าธรรมเนียมแพงและใช้เวลานาน
ลดความต้องการพลังงาน: พลังงานที่จำเป็นในการคำนวณข้อมูลนี้ มีปริมาณมหาศาล ทำให้การดูแลรักษาบล็อกเชนของ Bitcoin มีราคาแพงมาก
มีการใช้ smart contracts และ multi-sig scripts: Smart contracts และ multi-sig เป็นแกนหลักของ Lightning Network ซึ่งใช้เพื่อให้แน่ใจว่า เงินที่ส่งผ่านช่องทางนี้ จะถูกส่งไปถึงผู้รับได้
เครือข่าย Lightning เป็นช่องทางระหว่างผู้ที่เข้ามาร่วมใช้งาน เพื่อให้สามารถทำธุรกรรมหลายรายการได้ โดยไม่ต้องทนรอการยืนยันธุรกรรมที่ล่าช้าจากเครือข่ายหลัก ระหว่างการเปิดและปิดช่องทางนี้ ผู้ใช้งาน สามารถโอนย้ายเงินไปมาระหว่างกันได้ตามต้องการ จนกว่าจะถึงเวลาปิดช่องทาง
เมื่อปิดช่องทางแล้ว รายการธุรกรรมทั้งหมดจะถูกส่งไปยืนยันบนเครือข่ายหลัก
ข้อกังวลเกี่ยวกับเครือข่าย Lightning
ปัญหาที่ชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับ Lightning Network ซึ่งขัดแย้งกับการกระจายอำนาจก็คือ มันอาจจะนำไปสู่การจำลองแบบของ hub-and-spoke ที่เป็นลักษณะเฉพาะของระบบการเงินแบบมีตัวกลางในปัจจุบัน เช่น ธนาคารและสถาบันการเงินที่เป็นตัวกลางหลักในการทำธุรกรรมทั้งหมด
ธุรกิจที่ลงทุนในโหนด Lightning Network อาจกลายเป็นฮับที่คล้ายกัน หรือโหนดรวมศูนย์ในเครือข่ายโดยการเชื่อมต่อที่เปิดกว้างกับผู้อื่น และข้อกังวลอื่นๆ ได้แก่ การฉ้อโกง ค่าธรรมเนียม การแฮ็ก และความผันผวนของราคา
การฉ้อโกงในช่องทางปิด
ความเสี่ยงอย่างหนึ่งเมื่อใช้ Lightning Network คือการปิดช่องทางและออฟไลน์ ตัวอย่างเช่น สมมติว่า Sam และ Caroline กำลังทำธุรกรรม และอีกฝ่ายมีเจตนาร้าย ฝ่ายที่ไม่ซื่อสัตย์อาจสามารถขโมยเหรียญจากผู้ร่วมใช้งานรายอื่นได้ โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่าการปิดช่องทางแบบหลอก
สมมติว่า Sam และ Caroline ต่างฝากเงินเริ่มต้นที่ 0.5 BTC เพื่อเปิดช่องทาง และมีการทำธุรกรรม 1 BTC ซึ่ง Sam ซื้อสินค้าจาก Caroline หาก Caroline ออกจากระบบ (ปิดช่อง) หลังจากโอนสินค้าให้ Sam แล้ว แต่ Sam ยังไม่ออกจากระบบ และทำการ broadcast สถานะเริ่มต้น (ช่วงเวลาก่อนที่ 1 BTC จะถูกโอน) หมายความว่าทั้งคู่จะได้รับเงินฝากเริ่มต้นกลับคืน ราวกับว่าไม่ได้ทำธุรกรรมใดๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง Sam จะได้รับสินค้ามูลค่า 1 BTC ฟรี เพราะเงินมัดจำถูกส่งกลับคืน
สิ่งนี้ทำให้บุคคลที่สาม จำเป็นต้องทำงานบนโหนดเพื่อป้องกันการฉ้อโกงภายใน Lightning Network ที่เรียกว่า watchtower ที่จะคอยตรวจสอบการทำธุรกรรม และช่วยป้องกันการปิดช่องทางแบบฉ้อโกง
ค่าธรรมเนียม
มีค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ Lightning Network เป็นการผสมผสานระหว่างค่าธรรมเนียมการกำหนดเส้นทาง (routing charges) เพื่อกำหนดเส้นทางข้อมูลการชำระเงินระหว่างโหนด Lightning, การเปิดและปิดช่อง และค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมตามปกติของ Bitcoin
เมื่อธุรกิจต่างๆ เริ่มใช้ Lightning Network เป็นเลเยอร์การชำระเงิน พวกเขาอาจเริ่มเรียกเก็บค่าธรรมเนียม นอกจากนี้ เนื่องจาก watchtower เป็นบุคคลที่สาม จึงมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการบริการจำนวนมาก
ข้อมูลที่น่าสนใจ
- จากข้อมูลของ Arcane Research ปริมาณการชำระเงินผ่าน Lightning Network มีจำนวนเพิ่มขึ้น 410% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในไตรมาสแรก ของปี 2022
- การเพิ่มขึ้นนี้บ่งชี้ว่าผู้ใช้เปลี่ยนไปใช้การชำระเงินผ่านเครือข่ายอย่างมั่นคง
- เมื่อทั้งสองฝ่ายมีการชำระบิลระหว่างกัน พวกเขาจำเป็นต้องบันทึกธุรกรรมปิด ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้บนบล็อกเชน ซึ่งรวมถึงค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บสำหรับการส่งต่อธุรกรรม ซึ่งอาจเป็นค่าธรรมเนียมพื้นฐาน (ค่าธรรมเนียมที่กำหนด) หรืออัตราค่าธรรมเนียม (เปอร์เซ็นต์ของการทำธุรกรรม)
แฮ็ก
นอกจากนี้ เชื่อว่า Lightning Network มีความเสี่ยงที่จะถูกแฮ็กและโจรกรรม เนื่องจากช่องทางการชำระเงิน กระเป๋าเงิน และ Application Programming Interface (API) สามารถถูกแฮ็กได้
ข้อมูลที่น่าสนใจ
- ช่องทางการชำระเงินส่วนบุคคล ระหว่างผู้ใช้ต่าง ๆ รวมกันเพื่อสร้างเครือข่ายโหนด Lightning ที่สามารถกำหนดเส้นทางการทำธุรกรรมระหว่างกันได้ การเชื่อมต่อระหว่างช่องทางการชำระเงินต่างๆ ทำให้เกิดเป็น Lightning Network
การมุ่งโจมตีโดยเจตนา
ความเสี่ยงต่อเครือข่ายก็คือ การตั้งใจสร้างความแออัดให้มีเกิดขึ้นในเครือข่าย หากช่องทางการชำระเงินแออัด และมีการแฮ็ก ผู้ใช้งานอาจไม่สามารถรับเงินคืนได้เร็วพอ เนื่องจากความคับคั่งของปริมาณธุรกรรม ผู้โจมตียังสามารถใช้การโจมตีแบบปฏิเสธการให้บริการ เพื่อทำให้ช่องทางเกิดความแออัด
ในการโจมตีประเภทนี้ ผู้โจมตีสามารถใช้ความแออัดเพื่อขโมยเงินจากฝ่ายที่ไม่สามารถถอนเงินได้เนื่องจากเครือข่ายหยุดทำงาน
Lightning Network คืออะไร?
Lightning Network เป็นเลเยอร์ที่ 2 ของบล็อกเชน Bitcoin ที่ช่วยลดเวลาในการทำธุรกรรม และลดความแออัดของเครือข่ายหลัก
ฉันสามารถลงทุนในเครือข่าย Lightning ได้หรือไม่?
แม้ว่าคุณจะไม่สามารถลงทุนโดยตรงใน Lightning Network ได้ แต่นักลงทุนเอกชน สามารถลงทุนใน Lightning Labs ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาเครือข่าย Lightning ได้
ใครเป็นผู้ดำเนินการเครือข่าย Lightning?
Lightning Labs นำโดย Elizabeth Stark เป็นบริษัทที่พัฒนา Lightning Network ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ถูกปรับใช้บนอินเทอร์เน็ต และทำงานบนโหนดนับพันที่ตั้งอยู่ทั่วโลก
ที่มา LINK