Yield Farming คืออะไร?

Yield Farming หรือที่เรียกกันว่า ทำฟาร์ม เป็นคำศัพท์ที่มักจะพบในแพลตฟอร์ม DeFi ซึ่งแพลตฟอร์ม DeFi ที่เราจะเลือกทำฟาร์มนั้น มีหลายรูปแบบ แต่ละแบบให้บริการทางการเงินแตกต่างกันไป เช่น แพลตฟอร์มกู้ยืมเงินไร้ตัวกลาง, แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัลไร้ตัวกลาง ฯลฯ 

ซึ่งการที่แพลตฟอร์มเหล่านี้จะมีสภาพคล่องทางการเงินได้ ก็ต้องมีคนเอาเงินคริปโตมาฝากไว้ เพราะแพลตฟอร์มไม่ได้มีเงินเป็นของตัวเอง ดังนั้นแต่ละแพลตฟอร์มก็ต้องมีเงื่อนไขที่จูงใจมากพอให้คนอยากเอาเงินมาฝากที่แพลตฟอร์ม และการทำฟาร์ม ก็เป็นแรงจูงใจรูปแบบหนึ่ง ที่ดึงดูดให้คนอยากเอาเงินมาฝากไว้ที่แพลตฟอร์ม หรือเรียกติดปากว่า มาทำฟาร์ม นั่นเองค่ะ

Yield Farming การทำเกษตรกรรมเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต ในที่นี้เมล็ดพันธุ์ที่เราจะหว่านเพื่อเก็บเกี่ยวดอกผล ไม่ใช่เมล็ดพันธ์พืช แต่เป็น “เงินคริปโต” ดังนั้น การทำฟาร์ม จึงเป็นการฝากเงินเข้าไปในแพลตฟอร์ม DeFi เพื่อรับปันผลเป็นเงินที่เพิ่มขึ้นมาจากเดิมนั่นเองค่ะ แต่ว่า แต่ละแพลตฟอร์มจะมีกิจกรรมให้นักลงทุนเข้ามาฟาร์มในเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป

เงื่อนไขหลักๆก่อนจะทำฟาร์มได้ เราต้องฝากเงินคริปโตเป็นคู่เหรียญ เข้าไปที่ Pool ก่อน (สร้าง Liquidity สภาพคล่องทางการเงินให้กับแพลตฟอร์ม) แล้วจะได้สัญญาเงินฝาก เป็นเหรียญ LP Token ซึ่งจริงๆแล้วเราก็จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมเวลาที่มีคนมากู้เงินจาก Pool หรือ มา Swap เหรียญจาก Pool อยู่แล้ว แต่ดอกผลอาจจะไม่เยอะมากพอ ที่จะดึงดูดให้คนอยากเอาเงินมาฝากกันเยอะๆ

ทางแพลตฟอร์มจึงให้มีการนำ LP Token มาฟาร์ม (Staking) ซึ่งก็เป็นการล็อก LP Token ไว้ แล้ว รับผลตอบแทนเป็นเหรียญฟาร์ม ซึ่งเป็นเหรียญ Governance Token ของแพลตฟอร์มนั้นๆ นั่นเอง ซึ่งการล็อกสัญญาเงินฝากไว้แบบนี้ ก็แปลว่าเราจะไม่ถอนเงินต้นที่เรามาฝากไว้แต่แรกง่ายๆใช่มั๊ยล่ะคะ 

ผู้ที่ทำฟาร์มสามารถนำเหรียญฟาร์ม หรือเหรียญ Governance Token นี้ ไปขายทำกำไรได้อีกต่อหนึ่ง ยิ่งแพลตฟอร์มไหนมีความน่าเชื่อถือมาก มีคนนิยมมาใช้บริการมาก มีเงินฝากในแพลตฟอร์มนั้นสูงมาก(Total Value Locked : TVL) มีระบบการจัดการมูลค่าของเหรียญฟาร์มดีๆ ก็ยิ่งส่งผลให้เหรียญนั้นมีมูลค่าสูงขึ้น ยิ่งนักลงทุนที่เข้ามาทำฟาร์มได้เหรียญมาฟรีๆแบบนี้(จริงๆจากขั้นตอนที่ว่ามาก็ไม่ฟรีนะ) แล้วเอาไปขาย ยิ่งทำเงินได้เยอะมากขึ้น นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมปันผลที่ได้อยู่แล้วจากแพลตฟอร์ม

ตัวอย่างแพลตฟอร์ม DeFi ที่แจก Governance Token ได้แก่ Compound (COMP) ที่เป็นต้นแบบ ในการแจก Gov. Token นอกจากนี้ยังมี Uniswap (UNI), Aave (AAVE), Curve DAO (CRV), SushiSwap (SUSHI), PancakeSwap (CAKE) และอีกมากมาย ที่โทเคนเหล่านี้มีมูลค่าและมีการซื้อขายกันอยู่บนกระดานเทรด

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ การที่ Governance Token หรือเหรียญฟาร์มจะมีมูลค่าได้ ก็ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือ และการดำเนินงานของแพลตฟอร์มนั้นๆด้วย เพราะถ้าเราเลือกแพลตฟอร์มในการทำฟาร์มโดยไม่ศึกษาอย่างรอบคอบ เหรียญฟาร์มที่เราได้มา อาจจะไม่มีมูลค่าอะไรเลย และร้ายไปกว่านั้น เราอาจจะสูญเสียเงินต้นไปด้วยก็ได้ค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *